ความรู้เกี่ยวกับ ผ้าสกรีน
ความรู้เกี่ยวกับผ้าสกรีน – ผ้าสกรีน จัดว่าเป็นปัจจัยสำคัญรองมาจากกรอบบล็อกสกรีน ที่ทำให้แม่พิมพ์ของงานพิมพ์สกรีนออกมาสวยสมบูรณ์แบบ โดยทั่วไปแล้ว ผ้าสกรีนที่ใช้ในการพิมพ์สกรีนมีอยู่หลายชนิด ดังนั้นสิ่งสำคัญสำหรับผู้ใช้งานผ้าสกรีน นั่นก็คือการมีความรู้และทำความรู้จักกับผ้าสกรีน ทั้งนี้ก็เพื่อที่จะสามารถเลือกใช้ผ้าสกรีนให้เหมาะสมกับงานที่ต้องการทำเพื่อให้ได้งานพิมพ์สกรีนที่สวยงามและมีคุณภาพ
ซึ่งผ้าสกรีน (Screen Fabric) สำหรับงานพิมพ์สกรีนโดยทั่วไปมีอยู่ 2 ชนิด ดังนี้
1. ผ้าสกรีนไนลอน (Nylon)
คุณสมบัติสำคัญของผ้าชนิดนี้ นั่นก็คือสามารถยืดหยุ่นได้ดี ดังนั้นจึงเหมาะกับงานพิมพ์บนวัสดุที่มีผิวโค้งหรือวัสดุที่เป็นรูปทรงต่างๆ
แต่ผ้าสกรีนไนล่อนนี้ ไม่เหมาะที่จะนำมาใช้กับการพิมพ์ผ้า เนื่องจากไม่คงทนต่อการถูกล้างกาวทิ้งเพื่อนำบล็อกกลับมาใช้ใหม่ เพราะจะเกิดขุยบนเส้นใยผ้า และจะเกิดการยืดของเส้นใยจนทำให้ความตึงลดลงหลังจากผ่านการใช้งานแล้ว ทำให้ไม่สามารถเก็บรักษาผ้าสกรีนไนล่อนที่ขึงแล้วนี้ไว้ได้นานๆ ดังนั้นผ้าสกรีนชนิดนี้จึงเหมาะสำหรับการใช้งานในระยะเวลาสั้นๆ แต่ข้อดีสำหรับผ้าสกรีนไนล่อน นั่นก็คือมีราคาที่ค่อนข้างถูกกว่าผ้าสกรีนโพลีเอสเตอร์
2. ผ้าสกรีนโพลีเอสเตอร์ (Polyester)
ผ้าสกรีนชนิดนี้จัดเป็นชนิดที่ดีที่สุด ซึ่งเป็นผ้าสกรีนที่ทำขึ้นมาเพื่อพิมพ์บนวัสดุผิวเรียบและต้องใช้ความตึงสูง จึงเหมาะสำหรับงานพิมพ์ผ้ามากที่สุด ผ้าสกรีนโพลีเอสเตอร์นั้นมีอายุการใช้งานที่นานกว่าผ้าสกรีนชนิดอื่นๆ เพราะสามารถทนต่อการล้างบล็อกสกรีนหลายๆ ครั้ง โดยที่เส้นใยของผ้าสกรีนชนิดนี้จะไม่เป็นขุยและความตึงของผ้าสกรีนก็ยังคงอยู่
ด้วยคุณสมบัติของผ้าสกรีนโพลีเอสเตอร์ที่ง่ายต่อการขึงโดยไม่ต้องออกแรงดึงมาก ทำให้คุณสามารถขึงผ้าบนกรอบบล็อคสกรีนได้ตึงตามที่ต้องการ ทั้งนี้เพราะผลเสียจากการใช้แรงดึงที่มากเกินไปเพื่อขึงผ้าสกรีนให้ตึง อาจจะส่งผลกระทบต่อบล็อกสกรีน จนทำให้กรอบบล็อกบิดงอจนเสียรูป ทำให้รูของผ้าสกรีนเกิดการบิดเบี้ยวด้วยเช่นกัน ดังนั้นสีที่พิมพ์ลงไปจึงไม่สม่ำเสมอ
เบอร์ผ้าสกรีน กับวิธีการเรียก
1. เบอร์ผ้าสกรีนที่มีหน่วยเรียกเป็น “เซนต์ (cent)”
หมายถึง จำนวนเส้นด้ายที่นำมาทอมีจำนวนกี่เส้น ต่อผ้าสกรีน 1 เซนติเมตร ซึ่งการเรียกผ้าสกรีนที่มีหน่วยเรียกเป็นเซนต์นี้ นิยมเรียกกันในประเทศที่ผลิตผ้าสกรีนในแถบยุโรป เช่น อเมริกา สวิสเซอร์แลนด์ เป็นต้น ยกตัวอย่างเช่น ผ้าสกรีนเบอร์ 100 ก็จะมีเส้นด้ายจำนวน 100 เส้น ต่อ 1 เซนติเมตร หรือ ผ้าสกรีนเบอร์ 120 จะมีเส้นด้ายจำนวน 120 เส้น ต่อ 1 เซนติเมตร
2. เบอร์ผ้าสกรีนที่มีหน่วยเรียกเป็น “นิ้ว (inch)”
หมายถึง จำนวนเส้นด้ายที่นำมาทอมีจำนวนกี่เส้นต่อผ้าสกรีน 1 นิ้ว ซึ่งประเทศที่นิยมเรียกเบอร์ผ้าสกรีนที่มีหน่วยเรียกเป็นนิ้ว ได้แก่ ประเทศที่ผลิตผ้าสกรีนในแถบเอเชีย เช่น ญี่ปุ่น จีน เกาหลี สิงคโปร์ ยกตัวอย่างเช่น ผ้าสกรีนเบอร์ 100 ก็จะมีจำนวนเส้นด้าย 100 เส้น ต่อ 1 นิ้ว หรือผ้าสกรีน เบอร์ 120 จะมีเส้นด้าย 120 เส้น ต่อ 1 นิ้ว เป็นต้น
การเทียบเบอร์ผ้าสกรีนทั้งสองแบบนั้น ต้องใช้อัตราส่วน 1 นิ้ว เท่ากับ 2.54 เซนติเมตร เช่น ผ้าสกรีนเบอร์ 255 เอเชีย ก็จะเท่ากับ เบอร์ 100 ของยุโรป (255 หาร 2.54 = 100) หรือ ผ้าสกรีนเบอร์ 120 ยุโรป ก็จะเท่ากับเบอร์ 305 เอเชีย (120×2.54 = 304.8)
ในบางครั้งเราจะเห็นว่าเบอร์ผ้าสกรีนจะมีตัวอักษรภาษาอังกฤษตามมาด้วย ซึ่งตัวอักษรที่ต่อท้ายนั้นจะบ่งบอกถึงขนาดของเส้นด้าย หรือความหนาของผ้าสกรีน คือ S = Small, M = Medium, T = Thick, HD = Heavy Duty ดังนั้นถ้าเบอร์ผ้าสกรีน 100T จึงหมายถึง ผ้าสกรีน เบอร์ 100 ที่ทอจากเส้นด้ายอย่างหนา หรือมีเนื้อผ้าหนา ซึ่งมาตรฐานการกำหนดความหนาของเส้นด้ายในแต่ละประเทศหรือแต่ละบริษัทนั้นจะมีความแตกต่างกันออกไป ดังนั้นค่าความหนาของเนื้อผ้าจึงเป็นการเปรียบเทียบเฉพาะสำหรับผู้ผลิตเท่านั้น
การเลือกเบอร์ผ้าสกรีนสำหรับการพิมพ์ผ้า
สำหรับการเลือกผ้าสกรีนที่เหมาะสำหรับการพิมพ์ผ้านั้น สิ่งที่ควรคำนึงถึงนั่นก็คือ
ความคมชัดของลวดลาย
ยกตัวอย่างเช่น การพิมพ์แป้งจมในงานลวดลายธรรมดากับการพิมพ์แป้งจมในงานออฟเซ็ทสี่สี เพื่อความคมชัดของลวดลาย ก็จะต้องเลือกใช้ผ้าสกรีนที่มีความละเอียดหรือหยาบต่างกัน ซึ่งการพิมพ์แป้งจมในงานออฟเซ็ทสี่สีนั้น ควรจะใช้ผ้าสกรีนที่มีความละเอียดมากกว่าการพิมพ์แป้งจมในลวดลายธรรมดา
ความหนืดหรือความข้นเหลวของสี
โดยทั่วไป เราจะพบว่าสีพิมพ์ผ้าแต่ละชนิดที่จะใช้กับงานพิมพ์นั้น มีความข้นเหลวไม่เท่ากัน เช่น สียาง จะเป็นสีที่มีความข้นเหลวของเนื้อสีมาก การเลือกใช้ผ้าสกรีน จึงต้องใช้ผ้าที่มีเนื้อหยาบ ส่วนแป้งจมนั้นจะมีค่าความข้นเหลวน้อยที่สุด จึงสามารถใช้ผ้าสกรีนเบอร์ที่มีความละเอียดสูงได้
ความหนาของเนื้อสี
สำหรับงานพิมพ์สียางที่ต้องการให้มีเนื้อสีที่บางติดกับผ้า ก็ควรที่จะเลือกใช้ผ้าสกรีนที่มีเนื้อละเอียดมากกว่าปกติ และในทางตรงกันข้ามถ้าใช้ผ้าสกรีนที่มีความหยาบกว่าที่ใช้อยู่ งานพิมพ์ที่ได้ก็จะมีสียางที่มีเนื้อหนาขึ้น
ชนิดของเส้นด้ายที่ใช้ทอผ้าสกรีน ในงานพิมพ์สกรีน มีอยู่ 2 แบบ คือ
1. เส้นด้ายเดี่ยว (Monofilament)
ในหนึ่งเส้นของเส้นด้ายเดี่ยวประกอบไปด้วยเส้นด้าย ที่มีลักษณะคล้ายกับเส้นเอ็น และเป็นเส้นด้ายที่ไม่มีเส้นด้ายอื่นมารวมอยู่ด้วย
2. เส้นด้ายเกลียว (Multifilament)
เส้นด้ายเกลียว เป็นเส้นด้ายที่ประกอบไปด้วยเส้นด้ายเล็กๆ จำนวนหลายเส้น มาปั่นเกลียวรวมกันเป็นเส้นด้ายหนึ่งเส้น