เสื้อครอป Crop Top
ประวัติความเป็นมาของเสื้อสไตล์ Y2K
เนื่องด้วยช่วงนี้โลกได้หมุนแฟชั่นกลับไปยังยุคสมัย Old School ทำให้คนหันมาแต่งตัวแนว Y2K กันมากขึ้น เสื้อครอป หรือที่เรียกกันว่า Crop Top นั้นก็ได้กลับมานิยมอีกครั้ง อาจเพราะด้วยอากาศในประเทศไทยที่ร้อนขึ้นเรื่อยๆ ทำให้เกิดความรู้สึกร้อนอบอ้าว การใส่เสื้อสั้นๆ ก็ช่วยระบายอากาศได้เป็นอย่างดี ทำให้เราเย็นสบาย
ประวัติและที่มาของเสื้อครอป (Crop Top)
เชื่อว่ามีหลายคนคงอยากรู้แน่นอนว่าความเป็นมาที่จะมาเป็นเสื้อครอป หรือเรียกกันแบบชาวบ้านว่า เสื้อเอวลอย นั้นจุดเริ่มต้นมาได้อย่างไร ทางคิวบิกซ์ได้หาข้อมูลจนไปเจอข้อมูลหนึ่งที่น่าสนใจมาก เนื่องจากมีหลายความเป็นมาที่หลายคนออกมาแสดงตัวตนว่าเสื้อท็อปครอปมีความเป็นมาอย่างไร
เสื้อครอปออกแบบโดย “ผู้ชาย”
ความเป็นมาแรก เสื้อแบบครอปนั้นถูกออกแบบโดย ”ผู้ชาย” กลุ่ม Crop Tops Are For Guys ในเว็บไซต์ Tumblr ได้อ้างว่า เสื้อครอป ได้ปรากฏขึ้นในช่วงยุค 70s และเสื้อลักษณะนี้ถูกออกแบบโดยผู้ชาย ทำมาเพื่อสำหรับให้ผู้ชายสวมใส่ ที่สำคัญนั้นยังเป็นส่วนหนึ่งของแฟชั่นผู้ชายมาหลายปีก่อนที่ผู้หญิงนำมาสวมใส่จนฮิตถึงปัจจุบันนี้อีกด้วย
ซึ่งในช่วงต้นยุค 70s นั้นได้มีกลุ่มนักเพาะกายตัดส่วนล่างของเสื้อ เพื่อให้สอดคล้องกับระเบียบการแต่งกายในยิมที่ได้บอกว่าห้ามผู้ชายใช้บริการโดยไม่สวมใส่เสื้อ ดังนั้นการตัดเสื้อออกก็จะทำให้ออกกำลังกายสะดวกขึ้น แถมอากาศยังถ่ายเทระบายได้ดี
โดยแนวคิดดังกล่าวนั้นก็ได้ใกล้เคียงกับมุมมองของ คริสตัล เบลล์ (CRYSTAL BELL) ผู้เขียนบทความ “K-Pop Boys in Crop Tops: A History” ที่มีความเห็นว่าในยุค 70-80s เสื้อประเภทนี้ได้ปรากฏขึ้นในสถานะสัญลักษณ์ของ “ความเป็นชาย” และลักษณะร่างกายแบบ “นักกีฬา” เชื่อมโยงกับกลุ่มนักอเมริกันฟุตบอลระดับมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงในสมัยนั้นๆ กล่าวได้ว่านักเพาะกายหรือนักกีฬาในยุค 80s มักโชว์รูปร่างสัดส่วนของตัวเองผ่านเครื่องแต่งกายแนวกีฬาทั้งในและนอกยิม
ทั้งนั้นเราจะขอยกตัวอย่างมาอ้างอิงให้เห็นภาพได้อย่างชัดเจนขึ้น นั่นก็คือภาพลักษณ์ของ จอห์นนี่ เดปป์ (Johnny Depp) นักแสดงหนุ่มชื่อดังในยุคนี้ ซึ่งเข้าวงการแผ่นฟิล์มโดยปรากฏตัวในการแสดงภาพยนตร์ Nightmare On Elm Street (1984) โดยจะมีช่วงหนึ่งตัวละครที่เล่นโดยเดปป์ สวมใส่เสื้อกีฬาขนาดสั้นแบบที่เปิดส่วนหน้าท้อง
ข้อมูลดังกล่าวเป็นเพียงความคิดเห็นและมุมมองของกลุ่มคนกลุ่มหนึ่งเท่านั้น แต่ไม่ว่าข้อมูลเหล่านี้จะจริงเท็จอย่างไรก็ตาม ในภายหลังผลงานของจอห์นนี่ เดปป์ เมื่อ 1984 ช่วงปลายยุค 80 จนถึงต้น 90s ผลงานที่ฉายผ่านสื่อโทรทัศน์ก็มีคาแรกเตอร์เพศชายที่ปรากฏตัวในเสื้อครอปโชว์หน้าท้อง ตัวอย่างหนึ่งคือ วิล สมิธ (Will Smith) ในทีวีโชว์ชื่อ The Fresh Prince of Bel-Air
อีกทั้งในวงการดนตรีร็อกและพังก์ยุค 60-70s ศิลปินคนดังก็สวมใส่เสื้อครอปแล้วเช่นกันอย่างทอมมี่ ราโมน (Tommy Ramone) มือกลองวงราโมนส์ (Ramones) และเดวิด โบวี่ (David Bowie) มาจนถึงพรินซ์ (Prince) ในยุค 80s
และก็ได้ถึงจุดรุ่งเรืองของเสื้อครอป เพราะเมื่อมาถึงยุค 90s บอกได้เลยว่าเสื้อประเภทนี้ได้รับความนิยมอย่างมาก แต่มีคนตั้งข้อสังเกตว่าด้วยความที่มันถูกผูกโยงกับภาพจำในด้านเซ็กซ์ ดารา และแฟชั่น ทำให้เพศชายที่มีรสนิยมทางเพศตามธรรมชาติเริ่มตีตัวออกห่างจากเสื้อแบบนี้ตั้งแต่ช่วงปลายยุค 90s เมื่อมาถึงยุค 2000 เสื้อครอปกลายเป็นสิ่งที่ถูกมองในภาพลักษณ์แบบ Queer หรือหนึ่งในกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศก็ว่าได้
เสื้อครอปถือกำเนิดที่ “อินเดีย”
ความเป็นมาที่สอง จากบทความเรื่อง “A LOOK AT THE HISTORY OF THE CROP TOP” ในเว็บไซต์ Startup Fashion ผู้เขียนบทความนามว่า เจสสิก้า บุชชี (Jessica Bucci) ทำงานในแวดวงอุตสาหกรรมสิ่งทอได้อธิบายไว้ว่า เสื้อครอปมีความเป็นมาก่อนหน้าจะเริ่มฮิตกันในยุค 90s
โดยในบทความของเธอได้ตั้งข้อสังเกตว่า ลักษณะของเสื้อแบบนี้อาจยังไม่ได้แพร่หลายในตะวันตกในช่วงแรกเนื่องจากลักษณะอุณหภูมิที่ค่อนข้างหนาวกว่าตะวันออก ตัวอย่างเช่น ผ้าส่าหรี (Sari) ในเอเชียใต้ ส่าหรีแบบดั้งเดิมในอินเดียที่มีความเป็นมายาวนานมีองค์ประกอบของเสื้อผ้าส่วนบนที่ไม่ได้ปิดส่วนหน้าท้อง
หรืออย่างกรณีของเครื่องแต่งกายที่เปิดบริเวณตั้งแต่ใต้หน้าอกมาถึงเอว (midriff) แบบที่นักเต้นระบำหน้าท้องสวมใส่กันก็มีที่มาจากฝั่งตะวันออก บทความนี้มองว่า นักเต้นระบำหน้าท้องที่มาแสดงโชว์ในงานเวิลด์แฟร์ (World Fair) ที่ชิคาโก เมื่อค.ศ. 1893 ทำให้ชาวตะวันตกรู้จักแนวคิดโดยรวมของเครื่องแต่งกายแบบ bedlah อันเป็นเครื่องแต่งกายสำหรับเต้น ชุดถูกแยกเป็น 2 ชิ้น และไม่ได้ปกปิดบริเวณใต้หน้าอกมาถึงเอว
ขณะที่จุดเปลี่ยนของการสวมใส่หรือทำให้ “เสื้อครอป”(Crop Top) เกิดขึ้นนั้น เจสสิก้าได้มองว่า มาจากช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ในช่วงทศวรรษ 1940 เหตุเกิดจากวัตถุดิบในการผลิตผ้าขาดแคลนและผลิตได้น้อยกว่าเดิม ซึ่งหมายความว่าการออกแบบเสื้อผ้าจะต้องมีความคิดสร้างสรรค์มากขึ้นเพื่อประหยัดวัตถุดิบ ทำให้เหล่าดีไซน์เนอร์นักออกแบบเครื่องแต่งกายได้เกิดไอเดียมาประยุกต์ใช้ โดยคงความเป็นเสื้อผ้าทั่วไปไว้แต่ตัดเนื้อผ้าบริเวณครึ่งล่างออก เพื่อโชว์สัดส่วนเล็กน้อย
ทำให้เสื้อครอปจึงกลายเป็นลุคที่มีเอกลักษณ์เฉพาะของยุค 40s ในยุคนี้มักจะตัดเย็บด้วยคอปกสูง แขนสั้น และสวมใส่กับกระโปรงทรงเอวสูง ชุดนี้ทำให้เกิดการเผยทรวดทรงแบบ “นาฬิกาทราย” ซึ่งเป็นที่นิยมในขณะนั้น