การใช้กระเป๋าผ้า ไม่ได้ช่วยลดโลกร้อน
รู้กันรึเปล่าว่าจริงๆ แล้วการใช้กระเป๋าผ้านั้นไม่ได้ช่วยลดโลกร้อน หรือไม่ได้ช่วยลดโลกร้อนในทางตรงแต่อย่างใด แต่การใช้กระเป๋าผ้านั้นเป็นทางเลือกที่ยั่งยืนกว่าถุงพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว ข้อนี้เป็นความจริงอย่างแน่นอน ซึ่งมันก็มีผลกระทบต่อภาวะโลกร้อนและสิ่งแวดล้อมในหลายด้านเช่นเดียวกัน
ทำไมการใช้กระเป๋าผ้าถึงไม่ได้ช่วยลดโลกร้อน?
หากถามว่ากระเป๋าผ้าที่ให้ใช้และรณรงค์กันนั้นคือกระเป๋าผ้าที่ใช้ผ้าอะไร เชื่อว่าส่วนใหญ่คงรู้กันอยู่แล้วว่าควรใช้ “ผ้าดิบ” อยู่แล้ว หรืออาจจะใช้ผ้าแคนวาสหรือผ้าคอตตอนก็ได้ ทว่าบริษัทต่างๆ ที่ต้องการนำนโยบายนี้มาใช้ ไม่ว่าจะเป็นการผลิตถุงผ้าเพื่อใช้แจก หรือแถมในแคมเปญต่างๆ นั้นใช่ว่าจะใช้ผ้าประเภทนี้ซะทีเดียว แต่จะใช้ผ้าอะไรนั้น เราขออุบเอาไว้ก่อน แล้วมาพูดเรื่องสาเหตุที่ถุงผ้าไม่ได้ช่วยลดโลกร้อนกันก่อน ดังนี้
ในเรื่องของกระบวนการผลิต
การผลิตกระเป๋าผ้า ไม่ว่าจะเป็นจากผ้าฝ้าย ผ้าดิบ หรือวัสดุอื่นๆ ก็ต้องใช้ทรัพยากรและพลังงาน ซึ่งอาจนำไปสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้เช่นกัน โดยผ้าทั้ง 3 หลักๆ ก็คือ “ผ้าฝ้ายหรือผ้าคอตตอน” การปลูกฝ้ายอาจต้องใช้น้ำ ปุ๋ย และสารเคมีจำนวนมาก นอกจากนี้ กระบวนการทอและย้อมสีก็ใช้พลังงานและน้ำ, “ผ้าดิบ” ที่ราคาดี มินิมอลที่นิยม แม้จะมีการแปรรูปน้อยกว่าผ้าฝ้ายย้อมสี แต่ก็ยังต้องใช้ทรัพยากรในการปลูกและทอ อีกผ้าอย่างผ้าใยสังเคราะห์ การผลิตผ้าใยสังเคราะห์มักใช้น้ำมัน ซึ่งเป็นเชื้อเพลิงฟอสซิล และอาจมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในกระบวนการผลิต
จำนวนครั้งที่ใช้ซ้ำ
มีการศึกษาบางชิ้นระบุว่า กระเป๋าผ้าบางชนิด (โดยเฉพาะผ้าฝ้าย) อาจต้องถูกนำกลับมาใช้ซ้ำหลายร้อยถึงหลายพันครั้ง เพื่อให้ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมโดยรวม (รวมถึงการปล่อยก๊าซเรือนกระจก) น้อยกว่าการใช้ถุงพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว หากผู้บริโภคซื้อกระเป๋าผ้าจำนวนมากแต่ใช้เพียงไม่กี่ครั้ง ผลกระทบโดยรวมอาจไม่ดีเท่าที่คาดหวังนั่นเอง
การดูแลรักษาถุงผ้า
ก็ต้องยอมรับว่าหากเราใช้ถุงผ้าจนมีคราบสกปรก หรือเลอะเทอะ เราก็ต้องซักกันอยู่แล้วเหมือนกันเสื้อผ้า ซึ่งการซักกระเป๋าผ้าบ่อยๆ อาจใช้พลังงานและน้ำมากขึ้น ซึ่งก็มีส่วนในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางอ้อมเช่นเดียวกัน ในขณะที่ถุงพลาสติกที่หลายคนนำมาใช้ซ้ำก็อาจใช้เพียงผ้าเช็ด หรือล้างน้ำแล้วนำมาตากไว้ให้แห้งก็เพียงพอ
ภัยโลกร้อนจาก “กระเป๋าผ้า”
และแล้วก็ถึงตาที่จะเฉลยความจริงที่ใครหลายคนอาจไม่รู้ว่ากระเป๋าผ้าที่เป็นภัยโลกร้อนที่สุดนั้นคือ “ผ้าสปันบอนด์” นั่นเอง บอกเลยว่าผ้าชนิดนี้ราคาถูกมาก แม้แต่งานกาชาติเองก็ยังนำมาใช้ในการจับฉลาก โดยความน่ากลัวของผ้าสปันบอนด์ที่จะส่งผลเสียหรือผลกระทบนั้น ก็จะมีดังต่อไปนี้
เป็นเนื้อผ้าที่ผลิตจาก “พลาสติก”
กระเป๋าผ้าสปันบอนด์ส่วนใหญ่ผลิตจากเส้นใยพลาสติก โพลีโพรพิลีน (Polypropylene: PP) ซึ่งเป็นผลผลิตจากปิโตรเลียม เช่นเดียวกับถุงพลาสติก การผลิต PP ยังคงต้องใช้พลังงานและปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งเป็นสาเหตุของภาวะโลกร้อน
เรื่องของการย่อยสลาย
แม้ว่าบางข้อมูลจะระบุว่าผ้าสปันบอนด์สามารถย่อยสลายได้ แต่กระบวนการย่อยสลายนั้นต้องใช้เวลานานหลายปี (5-10 ปี หรือนานกว่านั้น ขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อม) และไม่ได้หมายความว่าจะย่อยสลายกลายเป็นสารที่ไม่เป็นอันตรายเสมอไป
ไมโครพลาสติก
ข้อกังวลที่สำคัญคือ เมื่อกระเป๋าผ้าสปันบอนด์เสื่อมสภาพ โดนความร้อน แสงแดด หรือการใช้งานซ้ำๆ เส้นใยพลาสติกจะแตกตัวออกเป็น ไมโครพลาสติก ซึ่งเป็นอนุภาคพลาสติกขนาดเล็กกว่า 5 มิลลิเมตร ไมโครพลาสติกเหล่านี้สามารถแพร่กระจายสู่สิ่งแวดล้อม ดิน น้ำ และอากาศได้
ขยะทางท้องทะเลจากกระเป๋าผ้าสปันบอนด์
การปนเปื้อนไมโครพลาสติก เมื่อไมโครพลาสติกลงสู่แหล่งน้ำและทะเล จะกลายเป็นภัยคุกคามต่อสัตว์ทะเล สัตว์น้ำขนาดเล็กอาจกินเข้าไปโดยเข้าใจผิดว่าเป็นอาหาร ทำให้เกิดปัญหาในระบบทางเดินอาหาร การสะสมของสารพิษ และอาจส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อาหาร อีกทั้งย่อยสลายยาก ทำให้เกิดการสะสมของขยะในทะเลได้
ทำไมการใช้ “กระเป๋าผ้า” จึงยังคงเป็นทางเลือกที่ยั่งยืนกว่า “ถุงพลาสติก”
อย่างไรก็ตามการใช้ถุงผ้าก็ใช่ว่าจะเป็นผลเสียอะไรมากมายขนาดนั้น เพราะถึงแม้ว่าจะไม่ได้ช่วยลดโลกร้อนในทางตรงซะทีเดียว ก็ใช่ว่าจะช่วยในทางอ้อมไม่ได้ เนื่องจากในทางกลับกันแล้วก็ยังมีประโยชน์ ดังนี้
ลดขยะพลาสติก
ถุงพลาสติกส่วนใหญ่เป็นแบบใช้ครั้งเดียวและย่อยสลายยากมาก มักลงเอยในหลุมฝังกลบหรือแหล่งน้ำ ก่อให้เกิดมลพิษและเป็นอันตรายต่อสัตว์ทะเล การใช้กระเป๋าผ้าช่วยลดปริมาณขยะพลาสติกเหล่านี้ได้อย่างมาก ซึ่งส่งผลดีต่อระบบนิเวศโดยรวม
ลดการใช้ทรัพยากรที่ไม่หมุนเวียน
การผลิตถุงพลาสติกต้องใช้น้ำมัน ซึ่งเป็นทรัพยากรที่ไม่หมุนเวียน ในขณะที่กระเป๋าผ้าหลายชนิดทำจากทรัพยากรหมุนเวียน เช่น ฝ้าย หรือสามารถนำวัสดุรีไซเคิลมาผลิตได้
ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในระยะยาว
แม้ว่าการผลิตกระเป๋าผ้าอาจมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจก แต่หากมีการใช้กระเป๋าผ้าซ้ำๆ เป็นระยะเวลานาน จะช่วยลดความจำเป็นในการผลิตถุงพลาสติกใหม่ ซึ่งมีกระบวนการที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเช่นกัน
ความทนทานและการส่งเสริมพฤติกรรมที่ยั่งยืน
กระเป๋าผ้ามีความทนทานกว่าถุงพลาสติก ทำให้ผู้บริโภคมีแนวโน้มที่จะนำกลับมาใช้ใหม่ซ้ำๆ และตระหนักถึงความสำคัญของการลดขยะมากขึ้น
การใช้กระเป๋าผ้า โดยตัวมันเองอาจไม่ได้ “ลดโลกร้อน” โดยตรงในทันทีอย่างที่บอกไป เนื่องจากกระบวนการผลิตและการใช้งานก็มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเช่นกัน อย่างไรก็ตาม การใช้กระเป๋าผ้าเป็นทางเลือกที่ยั่งยืนกว่าถุงพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวอย่างแน่นอน เพราะช่วยลดขยะพลาสติก ส่งผลถึงการกำจัดขยะที่จะช่วยให้การเผาไหม้ลดลง ลดการใช้ทรัพยากรที่ไม่หมุนเวียน และส่งเสริมพฤติกรรมการนำกลับมาใช้ใหม่ สิ่งสำคัญคือ การใช้กระเป๋าผ้าที่มีอยู่ให้คุ้มค่าและนำกลับมาใช้ซ้ำให้ได้มากที่สุด เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อมอย่างแท้จริง
สนใจผลิตกระเป๋าผ้าดูได้ที่หน้านี้ รับผลิตกระเป๋าผ้า