ประวัติ Stussy สตูซี สตรีทแวร์
แบรนด์ดังและเตะตา กับสกรีนด้วยลายมือ
ประวัติ Stüssy (Stussy) สตูซี สตรีทแวร์ แบรนด์ดังและเตะตา กับสกรีนด้วยลายมือ จุดกำเนิดความดังและความเอกลักษณ์เริ่มต้นง่ายๆ เพียงเพราะเจ้าของแบรนด์ ขีดเขียนนามสกุลของเขาลงบนบอร์ดทำมือด้วยมาร์กเกอร์อย่างง่ายๆ นั่นเอง
ประวัติความเป็นมาของ “เจ้าของ” แบรนด์สตูซี
Stüssy เป็นแบรนด์ที่ถือกำเนิดขึ้นจากฝีมือและมันสมองของ Shawn Stussy (ชอว์น สตูซี) ชายหนุ่มผู้เติบโตมาท่ามกลางวัฒนธรรมการเล่นเซิร์ฟบอร์ดของรัฐแคลิฟอร์เนียประเทศสหรัฐอเมริกา โดยที่ตัวเขาเองนั้นมีความหลงใหลในกิจกรรมกลางแจ้งอย่างการเล่นสกีและเซิร์ฟบอร์ดเป็นชีวิตจิตใจ เรียกได้ว่าเมื่อมีเวลาว่างเมื่อไรเขาก็จะออกไปเล่นเซิร์ฟบอร์ดแทบทุกครั้ง ความคลั่งไคล้ในกิจกรรมกลางแจ้งนี้ทำให้เขาออกแบบกระดานโต้คลื่นของตัวเองขึ้นตั้งแต่วัยเพียง 13 ปี
เมื่อชอว์นเรียนจบ เขาก็ได้ทำสิ่งต่างๆ เก็บเกี่ยวประสบการณ์ จนเข้าตัดสินใจออกมาสร้างธุรกิจเล็กๆ เป็นของตัวเอง ซึ่งก็ไม่ใช่อะไรอย่างอื่นนอกจากการออกแบบเซิร์ฟบอร์ดของตัวเอง และนำมาวางจำหน่าย ณ ลากูน่าบีช ซึ่งเป็นแหล่งรวมตัวของบรรดานักเล่นเซิร์ฟบอร์ดชั้นนำในละแวกชายฝั่งเวสต์โคสต์
การออกแบบเซิร์ฟบอร์ดของชอว์นนั้น มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวมาก เพราะไม่ใช่เซิร์ฟบอร์ดที่เห็นได้ทั่วไปตามท้องตลาด แต่เขาได้สร้างเอกลักษณ์ให้กับสินค้าด้วยวิธีการเขียนลายเซ็นของตนเองลงบนบอร์ดที่เขาทำขึ้น ซึ่งจุดเด่นของลายเซ็นดังกล่าวคือการเขียนโดยไม่ยกปากกาขึ้นเลย ส่งผลให้ลายเส้นของเขามีความคล้ายคลึงกับการเขียนแท็กของศิลปินกราฟฟิตี้ตามกำแพงหรือรถไฟใต้ดินสมัยนั้น แน่นอนว่า ชอว์น ได้รับอิทธิพลของลายเส้นเหล่านี้มาจากวงดนตรีพังค์ร็อคที่เขาชื่นชอบอย่างวง Sex Pistol และ The Clash
จุดเริ่มต้นของการกลายมาเป็น “สตูซี”
หลังจากมีธุรกิจเป็นของตัวเองได้ไม่นาน ชอว์น ก็ได้รับโอกาสให้ไปเปิดบูธจำหน่ายสินค้าในงาน Action Sport Retailer มหกรรมสินค้าเกี่ยวกับเซิร์ฟบอร์ดที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของแคลิฟอร์เนีย โดยในงานดังกล่าวนอกจากเซิร์ฟบอร์ดแล้วเขาได้ตัดสินใจนำเสื้อยืดเปล่าสีดำมาสกรีนลายเซ็นของเขาลงไป พร้อมนำไปวางจำหน่ายข้างเซิร์ฟบอร์ด โดยไม่ได้คาดหวังเลยแม้แต่น้อยว่ามันจะขายดี หรือมีผู้คนให้ความสนใจ
แต่ปรากฏว่าภายในระยะเวลา 3 วันที่เขามาเปิดบูธ กลับมีผู้ให้ความสนใจจับจองเป็นเจ้าของเสื้อยืดรุ่นนี้เป็นจำนวนมาก และด้วยราคาที่ตั้งไว้ที่แค่ตัวละ 8 ดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 250 บาท) เมื่อเสื้อยืดขายหมดเกลี้ยง ชอว์น จึงตระหนักได้ถึงกำไรมหาศาลที่เขาได้รับ นั่นจึงเป็นจุดกำเนิดของแบรนด์สตูซีอย่างเป็นทางการ
ความไม่หยุดนิ่ง และความคิดสร้างสรรที่ลองแล้วเวิร์ค
6 เดือนหลังจากงานดังกล่าว ชอว์น ได้กลับมาอีกครั้งพร้อมเสื้อยืดลายใหม่อีกสองลาย และสินค้าใหม่ล่าสุดอย่างกางเกงสำหรับเล่นเซิร์ฟบอร์ดที่ ชอว์น นำกางเกงทหารจากสงครามเวียดนามมาตัดขาแปลงโฉมให้กลายเป็นกางเกงสำหรับการเซิร์ฟ
ในช่วงเวลาดังกล่าวนี่คือดีไซน์สดใหม่ที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อน ผลลัพธ์ที่ได้จึงเป็นยอดขายมหาศาล กางเกงล็อตแรกที่เตรียมมาหมดอย่างรวดเร็ว ก่อนที่ ชอว์น จะต้องรีบไปผลิตมาเพิ่มอีกนับร้อยตัวเพื่อสนองความต้องการของลูกค้า
ซึ่งด้วยเหตุนี้ทำให้ ชอว์น ตั้งใจจะขายสินค้าเซิร์ฟบอร์ดควบคู่ไปกับเสื้อผ้าแนวสตรีทแวร์ที่ได้รับความนิยมสูง เพราะถึงแม้ชอว์นจะชอบเซิร์ฟบอร์ดแค่ไหน เขาก็รู้ว่าการทำหลายๆ อย่างควบคู่ไปด้วยนั้นจะทำให้แบรนด์ Stussy ของเขาเติบโตไปได้ไกลกว่าการทำอะไรเพียงอย่างเดียว นับเป็นการมองการณ์ไกลที่ไม่ปิดกั้นโอกาสมากๆ
การเติบโตทางด้านธุรกิจของสตูซี
ในช่วงต้นยุค 80s แบรนด์เล็กๆของ ชอว์น ถือว่าประสบความสำเร็จอย่างสูงทั้งในแง่รายได้และชื่อเสียง อย่างไรก็ตามด้วยความเป็นคนสบายๆ ทำให้ ชอว์น ไม่ได้มีความทะเยอทะยานที่จะนำพา Stussy ไปไกลกว่านี้เท่าไรนัก เขาไม่สนใจการโปรโมตหรือลงโฆษณาตามสื่อต่างๆ ด้วยซ้ำ จนกระทั่งการมาถึงของชายที่ชื่อว่า “แฟรงก์ ซินาตร้า จูเนียร์” (Frank Sinatra Jr. ไม่มีความเกี่ยวข้องกับศิลปินระดับตำนาน แฟรงก์ ซินาตร้า) ซึ่งแฟรงก์นั้นเป็นเพื่อนสมัยเด็กของชอว์น และมีความสามารถในเรื่องนักบัญชี ตัวเลข การตลาด เรียกได้ว่าเป็นมาดนักธุรกิจคนละสไตล์กับชอว์นเลยก็ว่าได้
หลังจากที่แฟรงก์เข้ามามีบทบาท เขาก็ได้ผลักดันจนในที่สุด Stussy ก็ได้จดทะเบียนบริษัทอย่างเป็นทางการในปี 1986 ส่งผลให้แบรนด์ Stussy เริ่มมีทิศทางที่ชัดเจนยิ่งขึ้นกว่าเดิม ด้วยวิสัยทัศน์ทางด้านการตลาดและฝีมือการบริหารของเขา โดยทั้งสองคนร่วมมือกันผลักดันให้ Stussy เริ่มกลายเป็นที่รู้จักของผู้คนทั่วโลกโดยที่ ชอว์น รับตำแหน่งเป็นครีเอทีฟดูแลด้านการออกแบบ ส่วนแฟรงก์เป็นผู้ดูแลด้านการตลาดโดยเขาได้นำเอาวิสัยทัศน์ในการเป็นนักธุรกิจของเขามาใช้ร่วมกับการสร้างแบรนด์แฟชั่น
จุดที่ทำให้สตูซีไปได้ไกลนอกจากสไตล์ที่มีความสร้างสรรและเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่โดดเด่นแล้วนั้น ทางแบรนด์ยังได้มีการเริ่มร่วมงานกับศิลปินวงหรือดนตรีที่มีความเกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมป๊อบคัลเจอร์ของโลกในช่วงเวลานั้น โดยพวกเขาเรียกวัฒนธรรมนั้นว่า International Stussy Tribe หรือ IST หนึ่งในผลงานเด่นของ Stussy ในช่วงแรกที่ทำร่วมกับศิลปินคือการออกแบบหน้าปกอัลบั้มให้กับ มัลคอม แมคลาเรน (Malcolm Mclaren) แฟนหนุ่มของ วิเวียน เวสต์วูด ดีไซน์เนอร์ผู้ทรงอิทธิพลมากที่สุดในวงการพั้งค์
ก็ต้องยอมรับเลยว่าอีกหนึ่งกำลังสำคัญที่ช่วยผลักดันวัฒนธรรมในแบบของ Stussy ให้ประสบความสำเร็จนอกจาก ชอว์นและ แฟรงก์ แล้วคงต้องยกเครดิตให้กับดีไซน์เนอร์รุ่นใหม่ในยุคนั้นอย่าง ฮิโรชิ ฟูจิวาระ (Hiroshi Fujiwara) โดยดีไซน์เนอร์หนุ่มจากแดนปลาดิบคนนี้มีส่วนร่วมผลักดันให้ Stussy กลายเป็นที่ยอมรับในประเทศญี่ปุ่น
ปัจจุบันสตูซีเป็นอย่างไรบ้าง
ต้องบอกเลยว่าไม่ใช่ทุกแบรนด์ที่จะมีความเป็นเอกลักษณ์ และยึดความเป็นตัวเองไว้จนไม่ตามกระแส สตูซีก็เป็นหนึ่งในนั้นที่ต้องยอมตามกระแส ลดสินค้าอย่างเซิร์ฟบอร์ดลงมาเป็นสเกลเล็กๆ และออกขายในฤดูกาลพิเศษเท่านั้น ทำให้ในที่สุดชอว์นก็ตัดสินใจวางมือเกษียณ แต่อย่างไรก็ตาม Stussy ก็ไม่หยุดโต เพราะความคิดสร้างสรร ความไม่ปิดกั้นตัวเอง ทำให้เขาเติบโตขึ้นเรื่อยๆ
Stussy ยังคงชูจุดเด่นด้วยการผสมผสานตัวตนของแบรนด์เข้ากับวัฒนธรรมดนตรี เพียงแต่คราวนี้ไม่ใช่แนวพังก์ร็อคเหมือนในอดีต แต่เป็นดนตรีฮิปฮอปที่เข้ากับความเป็นสตรีทแวร์มากกว่า ก็ถือว่ายังคงการทำรูปแบบแบรนด์ให้โคกับความเป็นดนตรีไว้นั่นเอง
นับตั้งแต่ปี 2000 Stussy กลายเป็นพาร์ทเนอร์สำคัญของแบรนด์มหาอำนาจอุปกรณ์กีฬาโลกอย่าง Nike โดยมีการผลิตรองเท้ารุ่นพิเศษร่วมกันอยู่บ่อยครั้ง โดยรองเท้าที่ทั้งคู่ร่วมงานกันเป็นครั้งแรกคือการหยิบเอารองเท้าโมเดลคลาสสิคอย่าง Air Huarache LE มาปรับเปลี่ยนคู่สีใหม่เน้นความเรียบง่ายด้วยสีสันสไตล์เอิร์ธโทน และไม่ใช่เฉพาะแต่ Nike เท่านั้นที่ทาง Stussy มีโอกาสร่วมงานด้วย แต่รวมถึงรองเท้าแบรนด์ดังอื่นๆ อย่าง Vans, Converse, New Balance, Timberland, Dr. Martens รวมไปถึงการจับมือกับงานศิลปะแขนงต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการ์ตูนดัง Bravis and Butthead ซูปเปอร์ฮีโร่จากค่ายมาร์เวล และศิลปินสตรีทอาร์ตชื่อก้องโลกอย่าง Kaws
ยิ่งไปกว่านั้น Stussy ก็ไม่เกี่ยงกับการร่วมมือกับแบรนด์สตรีทแวร์อื่นๆ ที่เปรียบเสมือนคู่แข่งโดยตรงในสนามการค้าอย่าง Neighborhood, BAPE, G-Shock, Porter, Carharrt หรือคอลเลคชั่นฉลองครบรอบ 30 ปี กับแบรนด์สตรีทชื่อดังอย่างอย่าง Supreme อีกด้วย จุดที่ทำให้แบรนด์สตูซีกำไรอย่างต่อเนื่องคงเป็นเรื่องของวิสัยทัศน์ที่กว้างไกล เขามองเห็นทุกอย่างเป็นโอกาส ทำให้ทุกวันนี้ไม่มีใครไม่รู้จักลายเซ็นต์ที่เอกลักษณ์โดดเด่นอย่าง Stussy (สตูซี)
แล้วคุณล่ะ สร้างความเป็นแบรนด์ ความเป็นเอกลักษณ์ของตัวเองได้รึยัง ถ้าคิดมาคร่าวๆ พอเป็นรูปเป็นร่างแต่ยังไม่สำเร็จ บอกเลยว่ามาที่เราสิ ธน พลัส 153 เรามีบริการ One Stop Service ที่สามารถช่วยคุณได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องผ้า เรื่องเทคนิคสกรีน การสร้างแบรนด์ โลโก้ คอนเซปต์ กราฟิก รวมไปถึงการแพ็คสินค้า ไว้ใจเราได้เลย